จิตวิทยา : Psychology




  จิตวิทยา : Psychology

  จิตวิทยาหมายถึง    การศึกษาพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดความรู้ และความเข้าใจพฤติกรรมและกระบวนการทางจิต  แล้วนำไปอธิบาย  ทำนายหรือคาดคะเน  และควบคุมพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตในที่สุด
 พฤติกรรม คือ  การกระทำของบุคคลประกอบด้วยพฤติกรรมภายนอกที่สังเกตได้ชัดเจน   และพฤติกรรมภายในซึ่งผู้อื่นไม่สามารถสังเกตได้   แต่อาจวัดได้ด้วยเครื่องมือหรือเครื่องวัดบางอย่าง  เช่น  อาจวัดเชาวน์ปัญญาได้ด้วยแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา  เป็นต้น
 กระบวนการทาง จิต  หมายถึง   การคิด   ความรู้สึก  แรงจูงใจ  ฯลฯ  ซึ่งเป็นประสบการณ์ของแต่ละบุคคล   ผู้อื่น  ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง
 การ ศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์  คือการศึกษาอย่างเป็นระบบโดยการสังเกต การอธิบาย, การทำนาย และการควบคุม (ประยุกต์) โดยความรู้หรือข้อมูลที่ได้ สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธีดังนี้
 1. ตรวจสอบโดยวิธีประจักษ์ คือ ตรวจสอบได้โดยการสัมผัส เช่น สามารถตรวจสอบได้ว่า เมื่อให้รางวัลหลังจากเด็กทำการบ้านถูกต้องแล้ว เด็กจะทำการบ้านอีกเมื่อครูให้การบ้าน (หลักการเสริมแรง) ก็สามารถทำได้โดยการสังเกต เป็นต้น
 2. ตรวจสอบโดยวิธีวิเคราะห์ด้วยเหตุผล ซึ่งสามารถทำได้สองวิธีคือ
     2.1 การนิรภัย คือ การนำกฎ หรือทฤษฎี ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า ถูกต้องไปตรวจสอบ เช่น สามารถตรวจสอบได้ว่า เด็กน่าจะทำการบ้านที่เราให้ หากที่ผ่านมาเมื่อเด็กส่งการบ้านมาแล้ว เราให้รางวัล ทั้งนี้เป็นเพราะการกระทำของเรา (ให้รางวัล) เป็นไปตามหลักการเสริมแรง นั่นเอง
     2.2 การอุปนัย คือ การสรุปเป็นกฎ หรือทฤษฎี จากเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ย่อย ๆ เช่น เราสามารถสรุปได้ว่า เมื่อบุคคลทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปแล้วได้รับรางวัลตอบแทนบุคคลก็จะทำสิ่งนั้น อีก เนื่องจากที่ผ่านมาเราสังเกตเห็น(ทราบ) ว่า คนที่ได้รับรางวัลมักจะทำในสิ่งที่ตนเคยได้รับ รางวัลมาแล้วเสมอ เป็นต้น
 วิธีการที่ใช้ในการศึกษาจิตวิทยามีหลายวิธี จะกล่าวถึงเพียงบางวิธีเท่านั้น ดังนี้
 1. การสังเกต ซึ่งทำได้โดยการสังเกตอย่างมีแบบแผน คือสร้างเงื่อนไขหรือสถานการณ์ขึ้นเพื่อสังเกตพฤติกรรม เช่น สังเกตว่าเด็กจะมีพฤติกรรมอย่างไร เมื่อยู่ในภาวะหวั่นกลัว เป็นต้น หรืออาจสังเกตโดยไม่มีแบบแผน คือ ไม่ต้องเตรียมการ หรือจัดเงื่อนไขหรือสถานการณ์ขึ้นก็ได้ เช่น สังเกตพฤติกรรมเด็กขณะรับประทานอาหารกลางวันเพื่อทราบถึงมารยาทในการรับ ประทาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการสังเกตแบบไหนก็ต้องมีจุดมุ่งหมายในการสังเกต ชัดเจนว่าจะสังเกตอะไร และยังต้องอาศัยผู้สังเกตที่มีความรู้และประสบการณ์โดยตรงอีกด้วย จึงจะได้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและเชื่อถือได้
 2. การทดลอง คือ การกำหนดตัวแปรที่ต้องการทราบผล ให้แก่ผู้ที่ถูกทดลอง (กลุ่มตัวอย่าง) เพื่อดูผลที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร ทำให้สรุปได้ว่าตัวแปรตัวหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดตัวแปรอะไร หรือตัวแปรที่เกิดขึ้น (ผล) มีสาเหตุมาจากอะไร เช่น ต้องการทราบว่า คำชมเชยมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือไม่ ก็อาจทดลองได้โดยสุ่มตัวอย่างนักเรียนมา 2 กลุ่ม ให้เรียนบทเรียนเดียวกัน ครูคนเดียวกัน วิธีสอนเดียวกัน สอบด้วยข้อสอบเดียวกัน แต่กำหนดให้กลุ่มที่ 1 ได้รับคำชมเสมอเมื่อตอบคำถามของครู หรือทำตามที่ครูกำหนดให้ ส่วนกลุ่มที่ 2 จะไม่ได้รับคำชม หรือตำหนิเลย เมื่อจบบทเรียนแล้วทดสอบ นำผลการสอบของ 2 กลุ่ม มาเปรียบเทียบกัน ถ้าปรากฏว่า กลุ่มที่ 1 มีผลการเรียนดีกว่ากลุ่มที่ 2 ก็สามารถสรุปได้ว่า คำชมเชยมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นั่นคือคำชมเชยเป็นเหตุให้ผลการเรียนดีขึ้น เป็นต้น
 3. การศึกษาความสัมพันธ์ ทำโดยหาค่าความสัมพันธ์ของตัวแปร ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้น ซึ่งมีหลายวิธี เช่น หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r) ทำให้ทราบขนาดและทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ต้องการศึกษาได้ ตัวอย่างเช่น ต้องการทราบว่า ความวิตกกังวลกับความเชื่อมั่นในตนเองของบุคคลมีความสัมพันธ์กันอย่างไรหรือ ไม่ ก็สามารถคำนวณหาค่าความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ ถ้าค่าความสัมพันธ์ (r) เป็น -0.8 (ค่า r จะอยู่ระหว่าง 1, .9, .8, ....0, ...-.8, - .9 , -1) แสดงว่า ถ้าบุคคลมีความวิตกกังวลสูง จะมีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ หรือถ้าบุคคลมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง จะมีความวิตกกังวลต่ำก็ได้ หรือถ้าหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างความคิดอย่างมีเหตุผลกับความสามารถในการแก้ ปัญหาแล้วพบว่าค่า r มีค่า 0.9 แสดงว่า บุคคลที่คิดอย่างมีเหตุผลยิ่งมากเท่าไร ก็ยิ่งจะแก้ปัญหาได้สำเร็จมากเท่านั้น หรือถ้าแก้ปัญหาได้สำเร็จมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้เหตุผลมากเท่านั้น เป็นต้น
 4. การทดสอบด้วยแบบทดสอบมาตรฐาน อาทิ ทดสอบเชาวน์ปัญญา ความถนัด บุคลิกภาพ แรงจูงใจ เจตคติ เป็นต้น
 5. การศึกษารายกรณี คือ การศึกษาบุคคลแต่ละคนอย่างละเอียดลึกซึ้ง ครอบคลุมทุกด้านจนเข้าใจพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตวิทยาของบุคคลนั้นอย่าง แจ่มแจ้งชัดเจน
 จิตวิทยามีหลายสาขา จะกล่าวถึงบางสาขา ได้แก่
 1. จิตวิทยาทั่วไป หรือจิตวิทยาเบื้องต้น เป็นการศึกษา ทฤษฎี กฎ หรือความรู้ทางจิตวิทยาโดยทั่วไป เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาขอบข่ายของจิตวิทยาทั้งหมด
 2. จิตวิทยาคลีนิค เป็นการศึกษาสาเหตุ ป้องกัน และบำบัดพฤติกรรม และกระบวนการทางจิตที่ผิดปกติ
 3. จิตวิทยาให้คำปรึกษาเป็นการศึกษาและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
 4. จิตวิทยาพัฒนาการ เป็นการศึกษาพัฒนาการของบุคคล (การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ในแต่ละวัย)
 5. จิตวิทยาการศึกษา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอน เพื่อจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
 6. จิตวิทยาทดลอง เป็นการทดลองทางจิตวิทยาเพื่อสร้าง กฎ ทฤษฎี หรือความรู้ต่าง ๆ ทางจิตวิทยาขึ้น
 7. จิตวิทยาอุตสาหกรรม (องค์การ) เป็นการศึกษาพฤติกรรมการทำงาน ความเป็นผู้นำ แรงจูงใจ ขวัญกำลังใจในการทำงาน การคัดเลือกคนงาน ฯลฯ
 8. จิตวิทยาบุคลิกภาพ เป็นการศึกษาบุคลิกภาพของบุคคล
 9. จิตวิทยาโรงเรียน เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาแก่นักเรียน การทดสอบ    การฝึกอบรม ฯลฯ
 10. จิตวิทยาสังคม เป็นการศึกษาพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มคน หรือพฤติกรรมของกลุ่ม ตลอดจนความคิด ความเชื่อต่าง ๆ เป็นต้น

18:51:27

2010-10-05